BLOCKCHAIN มีอะไรมากกว่า FINANCIAL TECHNOLOGY

ถ้าพูดถึง Blockchain คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเป็นระบบที่ใช้งานในวงการ FinTech (Financial Technoloy) เท่านั้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะจุดเริ่มต้นของการนำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ก็มีที่มาที่ไปจากการเกิดขึ้นของ Bitcoin นั่นเอง หลายคนก็เลยคิดว่า Blockchain ก็คือ Bitcoin Bitcoin ก็คือ Blockchian แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือคนละสิ่งกัน แต่มันมีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อไม่ให้ทุกคนสับสนผมขอเล่าถึงความเกี่ยวข้องกันของ Blockchain กับ Bitcoin ก่อนแล้วกันครับ

คำอธิบายที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ของ Bitcoin ก็คือ “สกุลเงินดิจิทัล” ที่สามารถใช้เงินปกติซื้อมาครอบครองได้ และมีการขึ้นลงตามราคาตลาด แต่เนื่องจากมันเป็นสกุลเงินดิจิทัล จึงไม่สามารถจับต้องได้ทางกายภาพ ทำให้เวลานำมาใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายกันก็ต้องทำผ่านรูปแบบดิจิทัล จึงต้องมีระบบที่ใช้ในการทำ Transaction ซึ่งก็คือ Blockchain นั่นเอง ซึ่งต่อจากนี้บทความนี้อาจจะไม่ได้พูดถึง Bitcoin มากนัก แต่จะเน้นไปที่ Blockchain มากกว่า อาจจะมี Bitcoin โผล่มาเป็นตัวอย่างบ้างพอให้เข้าใจง่ายขึ้น ถ้าเป็นเรื่องของ Bitcoin แบบเต็ม ๆ นั้นถ้ามีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้งครับ

กลับมาที่ Blockchain พอเรารู้ที่มาที่ไปเบื้องต้นแล้ว ก็จะขออธิบายการทำงานของระบบนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ นะครับ Blockchain คือ ระบบข้อมูลบัญชีกลางที่ใช้ทำ Transaction ต่าง ๆ ซึ่งจะแตกต่างกับระบบทั่วไปตรงที่ไม่ได้เป็นระบบแบบ Centralized หรือรวมข้อมูลทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลาง แต่เป็นระบบแบบ Decentralized ที่กระจายข้อมูลไปยัง Network ต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นของยกตัวอย่าง ธนาคาร เมื่อเราต้องการทำ Transaction เช่น โอนเงินไปให้เพื่อน 1,000 บาท เราก็ต้องโอนผ่านธนาคาร ยอดเงินเราก็จะไปโผล่ที่ธนาคาร การเคลื่อนไหวทางฝั่งเพื่อนก็จะเกิดขึ้นผ่านยอดบัญชีในธนาคารของเขาเช่นกัน ทุกอย่างทำผ่านธนาคารหมด ดังนั้นจึงเรียกว่า Centralized ซึ่งจะมีข้อดีที่โอกาสผิดพลาดต่ำ และดูแลรักษาระบบได้ง่าย แต่ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบก็จะสูงตามไปด้วย ในแง่ของความปลอดภัยผู้ที่ทำ Transaction ต้องเชื่อใจศูนย์กลางที่ดูแลระบบอย่างมาก เพราะถ้าระบบล่ม หรือโดน Hack ขึ้นมาก็พังกันหมดเลยทีเดียว ทีนี้มาทาง Blockchain ที่เป็น Decentralized เวลาคนที่ต้องการทำTransaction ก็ประกาศแชร์ให้ทุกคนใน Chain ได้รับทราบ และทุกคนก็จะช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลใน Transaction (ถ้าเป็น Bitcoin ก็จะแย่งกันตรวจสอบเพื่อรับรางวัลตอบแทน) ผ่านระบบสมุดบัญชีกลาง หรือ Public Ledger ที่ทุกคนเห็นทุกคนมีเหมือนกัน เป็นการยืนยันข้อมูลลงใน Block ข้อมูลที่สมบูรณ์แล้ว (ให้เปรียบเทียบ Block เป็นกล่องที่เก็บรูปภาพข้อมูล Transaction ที่ผ่านการยืนยันเรียบร้อยแล้ว มีรายละเอียดเส้นทางของทุก ๆ Transaction ซึ่งทุกคนจะเห็นภาพนั้นเหมือนกัน) ซึ่งข้อดีคือ มีความปลอดภัยสูง ไม่ต้องกังวลว่าระบบจะมีปัญหา เพราะยังมีข้อมูลบันทึกอยู่ใน Public Ledger ที่ทุกคนถืออยู่เหมือนกัน มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ทุก Transaction ที่สำคัญคือต้นทุนต่ำอย่างมหาศาล ไม่จำเป็นต้องมีระบบกลางที่ต้องคอยดูแลรักษา หรือจ้างคนมาคอยดูแลระบบ แต่ข้อเสียก็คือความยุ่งยากซับซ้อนของเทคโนโลยีนี้ การนำเอาไปใช้จริงก็ยากตามไปด้วย อีกทั้งบางอุตสาหกรรมกฎหมายก็ยังไม่ยอมรับให้ทำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เช่น อุตสาหกรรมทางการเงิน (Bitcoin จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับในบางประเทศ)

ดังนั้นเมื่อมาวิเคราะห์ถึงความสามารถของเทคโนโลยีนี้ดู ก็จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ FinTech เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปปรับใช้กับหลาย ๆ อุตสาหกรรม ถ้าองค์กรใดที่นำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับบริบทของตนเอง ก็จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจเป็นอย่างมาก เรามาลองดูการนำเอา Blockchain Technology ไปปรับใช้กันบ้าง นอกเหนือจากฝั่ง Financial แล้วทางด้าน Real Estate ก็นำมาประยุกต์ใช้ในการทำ Smart Contract ซึ่งสัญญาจะอยู่ใน Blockchain ทุกคนเห็นข้อมูลสัญญาตรงกัน มีการแก้ไขอะไรในสัญญาก็จะเห็นทุกคนเช่นกัน Healthcare นำไปใช้ในการแชร์ข้อมูลสุขภาพที่ปิดผนึกไปยัง Providers ต่าง ๆ ได้ด้วยความปลอดภัยสูงสุด หรือแม้กระทั่งการนำเอาไปใช้ในการเลือกตั้ง ผลโหวตที่โหวตขึ้นใน Blockchain จะมีความปลอดภัย ได้รับการปกป้องจากผู้ที่โหวตทุกคน มีความถูกต้องและโปร่งใส ไม่แน่นะครับเราอาจจะได้เห็นการเลือกตั้งในอนาคตของประเทศเรานำเอา Blockchain Technology มาใช้ก็เป็นได้.

Ref : https://www.pwc.com/us/en/industries/financial-services/fintech/bitcoin-blockchain-cryptocurrency.html