การทำเกษตรแบบแนวดิ่ง (VERTICAL FARM) กับการขับเคลื่อนประเทศไทย

การทำเกษตรแบบแนวดิ่ง (Vertical Farm) กับการขับเคลื่อนประเทศไทย

การเกษตรกรรมในประเทศไทยก็ยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังเช่นที่ทางภาครัฐออกมากำหนดว่า การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่เป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve)

แต่ถ้านึกถึงการทำการเกษตรกรรมในประเทศไทย ก็คงนึกถึงการทำเกษตรที่ใช้พื้นที่อย่างมหาศาล ดูแลด้วยการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช โดยใช้แรงงานคนที่เรียกว่า “เกษตรกร” แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยสิ่งที่มีอยู่ในประเทศตอนนี้ อาจจะยังไม่เพียงพออีกต่อไป

การทำการเกษตรรูปแบบเดิมๆ อาจจะไม่ได้สร้างคุณค่ามากพอ ดังนั้น การเกษตรแนวใหม่จึงถูกนำเข้ามาแทนที่การเกษตรแบบเดิมๆ อย่างเช่น การทำเกษตรแบบแนวดิ่ง (Vertical Farm)

การเกษตรแบบแนวดิ่ง (Vertical Farm) คือ การปลูกพืชเป็นชั้นๆ ปลูกในโรงเรือนที่มีหลังคา ที่สามารถป้องกันแมลงและวัชพืชต่างๆ ได้ โดยควบคุมการให้น้ำ อาหาร และแสง โดยมนุษย์ผ่านระบบอัจฉริยะต่างๆ ทำให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่มากกว่า ปลอดภัยกว่า และควบคุมได้ง่ายกว่า ซึ่งศาสตราจารย์ Dickson Despommier จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดการทำเกษตรแบบแนวดิ่ง (Vertical Farm) มีความเชื่อว่า “ในอีก 50 ปีข้างหน้า ทั้งสภาวะโลกที่ร้อนขึ้น และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร จะทำให้พื้นที่ที่ใช้ในการเพาะปลูกจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ ดังนั้น การทำเกษตรแบบใหม่จึงเป็นทางรอดของปัญหานี้”

ตัวอย่างที่น่าสนใจของประเทศที่หันมาทำเกษตรแบบแนวดิ่ง (Vertical Farm) นี้ ก็อย่างเช่นประเทศเพื่อนบ้านของเรา ประเทศสิงคโปร์ ที่ทางรัฐบาลออกมาสนับสนุกบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ชื่อว่า Skygreens ทำฟาร์มเกษตรแนวดิ่ง และทางฟาร์มก็ได้เริ่มป้อนผลผลิตเข้าสู่ตลาด ซึ่งได้มากถึงวันละ 1 ตัน มากกว่าฟาร์มปกติ 5-10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบจากพื้นที่ขนาดเดียวกัน โดยฟาร์มแห่งนี้ทำงานด้วยระบบไฮโดรลิค ใช้พลังงานและน้ำน้อยมาก ด้วยการใช้เทคโนโลยี A-Go-Go ซึ่งเป็นโครงสร้างเสา 2 เสาค้ำยันกันอยู่คล้ายรูปตัว A แต่ละเสาสูง 6 เมตร มีการหมุนเพื่อให้พืชได้รับน้ำและแสงแดดในปริมาณที่เท่ากัน ระบบหมุนก็ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า เพราะใช้ระบบเติมน้ำเพื่อหมุนรอก นำ้เสียจากพืชก็จะนำไปหมักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ หลังคาเป็นพลาสติกพีวีซีใส สามารถปลูกพืชที่ชอบอากาศร้อนได้ตลอดทั้งปี และปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในการสูบน้ำ มีค่าไฟฟ้าเพียง 105 บาทต่อเดือนต่อ 1 โครงสร้างตัว A

เห็นอย่างนี้แล้ว ประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการเกษตร ก็คงต้องหันมาพิจารณาถึงการทำเกษตรแบบเดิมๆ ที่เราทำกันอยู่ในปัจจุบันว่ามันสามารถสร้าง Value ได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคจริงหรือไม่ หรือควรจะพิจารณาลงทุนในการทำเกษตรแบบใหม่ที่เรียกว่า เกษตรแบบแนวดิ่ง (Vertical Farm) กันบ้างแล้ว