"อริยสัจ 4" และการเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงแบบ "DESIGN THINKING"

"อริยสัจ 4" และการเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงแบบ "Design Thinking"

กระบวนคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking คือ “กระบวนการคิดที่เน้นการทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง เข้าถึงต้นตอที่แท้จริงของปัญหาโดยให้ความสำคัญกับผู้ใช้งาน รวบรวมความคิดเห็นที่แตกต่างและน่าสนใจมาสร้างเป็นไอเดีย พร้อมทั้งลองใช้งานไอเดียนั้นด้วยการสร้างต้นแบบมาทดสอบ เพื่อนำไปพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป” ด้วยคำนิยามนี้มันจึงมีอีกชื่อหนึ่งคือ "Human Center Design" ซึ่งก็คือการออกแบบจากการเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้งนั่นเอง

แนวคิดนี้เริ่มต้นมาจากวิธีการทำงานของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ จนเข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในภาคธุรกิจ แต่ Design Thinking ไม่ได้หยุดแค่นั้น ปัจจุบันได้ถูกนำไปปรับใช้ในทุกศาสตร์ทุกแขนง ทั้งด้านการบริการ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ จนกำลังจะกลายเป็น Skills Set ที่จำเป็นในศตวรรษนี้ด้วยซ้ำไป

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า Design Thinking อยู่ในทุกบริบท วันนี้เราจะมาเปรียบเทียบ Design Thinking กับบริบททางศาสนาพุทธ ซึ่งมีหลายบทความที่เขียนไว้ว่า Design Thinking มีความใกล้เคียงกับหลักอริยสัจ 4 ของพระพุทธศาสนา จะใกล้เคียงกันอย่างไร ลองเปรียบเทียบกันดูนะครับ

หลักอริยสัจ 4 เป็นคำสอนที่สำคัญเรื่องหนึ่งของพระพุทธศาสนา กล่าวถึงความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยมีความใกล้เคียงกับ Design Thinking ดังนี้ครับ

ทุกข์ = Empathize

คือการเข้าใจว่าอะไรคือปัญหา หรือกำลังรู้ว่าประสบกับปัญหาเรื่องอะไร การจะเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงได้ ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งให้ถึงสิ่งที่เรียกว่า Insight เข้าหาเข้าถึงอย่างจริงจัง รู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างแท้จริง และสำคัญที่ต้องรู้ในมุมมองของเจ้าของปัญหา ไม่ใช่มุมมองจากผู้อื่น

สมุทัย = Define

คือการค้นหาต้นตอแห่งปัญหา อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่นำปัญหามา ทุกปัญหาล้วนแต่มีต้นสายปลายเหตุ ทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นมาเฉย ๆ แต่ล้วนมีที่มาทั้งสิ้น ระบุให้ชัดถึงสาเหตุนั้น อะไรคือสิ่งลบ ๆ หรือสิ่งแย่ ๆ ที่เจอ (Pain Point) เลือกเอาปัญหามาเพียง 1 ปัญหาที่ชัดเจน แล้วเลือกแก้ไขมันให้ตรงจุด อย่าพยายามแก้ปัญหาทุก ๆ อย่างพร้อมกัน ควรจะเลือกโฟกัสที่ปัญหาหลักเท่านั้น

นิโรธ = Ideation

คือวิธีการที่ใช้แก้ปัญหา เมื่อเรารู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร รู้แล้วว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง เราก็จะพบวิธีการที่จะใช้แก้ไขปัญหานั้นให้บรรเทา เป็นแนวทางในการแก้ไขที่ดีที่สุด ตรงกับปัญหามากที่สุด เพราะเราเลือกวิธีแก้ที่ตรงกับสาเหตุที่แท้จริงแล้ว

ทั้งนี้อาจจะมีไอเดียเกิดขึ้นมากมายในขั้นตอนนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งไอเดียยิ่งเยอะ เรายิ่งมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีมากขึ้น ผสมเพิ่มเติมต่อยอดไอเดียซึ่งกันและกัน คือหัวใจสำคัญของ Ideation

มรรค = Prototype & Test

คือการลงมือปฏิบัติให้ปัญหานั้นหมดไป เมื่อมีวิธีแก้ปัญหาแล้วต้องลงมือทดลองดูว่า วิธีเหล่านี้แก้ไขได้จริงหรือไม่ เมื่อทำแล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร ถ้ามัวแต่คิดที่จะทำ มีไอเดียอยากจะทำ แต่ไม่ได้เริ่มลงมือทำ เราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าวิธีไหนได้ผลมากที่สุด สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำอาจจะไม่ได้ออกมาตามที่เราต้องการ แต่ก็ได้เรียนรู้ว่าจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้ถ้าท้ายที่สุดเราจะไม่ได้มาซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริง ก็สามารถวนกลับไปที่จุดเริ่มต้น คือการเข้าใจปัญหา หรือ Empathize อีกครั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งการออกแบบที่แก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

แหล่งอ้างอิง : มหาลัย 3 นาที

เรียบเรียงโดย : คุณจีรวัฒน์ เยาวนิช (อาจารย์ต้น)
Facilitator